น้ำมันไฮดรอลิก (Hydraulic Oil) ระบบไฮดรอลิกเป็นระบบที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวางในโรงงานอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท รวมทั้งในงานก่อสร้าง เช่น เครื่องอัดขึ้นรูป เครื่องพับม้วนและตัดแผ่นเหล็ก เครื่องกลึงและเจียระไน เครื่องฉีดพลาสติกและอลูมิเนียม รถตัก รถยก รถขุด ปั้นจั่น และรถแทรกเตอร์ต่างๆ เป็นต้น ระบบนี้จะใช้น้ำมันไฮดรอลิกเป็นสารตัวกลางในการถ่ายทอดหรือเปลี่ยนแปลงพลังงานของของไหลให้เป็นพลังงานกลได้ดีมาก ทั้งในรูปของการเคลื่อนที่ในแนวเชิงเส้นหรือในแนวหมุนเมื่อเปรียบเทียบกับระบบอื่นๆ เช่น สามารถหยุดชะงักเมื่อมีการรับโอเวอร์โหลดนานทำงานในลักษณะที่มีโหลดเปลี่ยนแปลง หรืองานที่ต้องการแรงม้ามากๆได้ดี ง่ายต่อการควบคุม และสามารถปรับเปลี่ยนความเร็วของกระบอกสูบหรือมอเตอร์ไฮดรอลิกได้ง่ายและได้ทุกระดับ เป็นต้น ระบบนี้จะประกอบด้วยส่วนประกอบและอุปกรณ์พื้นฐาน 6 อย่างคือ
1. ถังพักน้ำมันไฮดรอลิก ทำหน้าที่เก็บน้ำมัน ปรับสภาพน้ำมันให้สะอาดและมีอุณหภูมิพอเหมาะ
2. ปั๊มไฮดรอลิก ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานของของไหล
3. วาล์วควบคุมชนิดต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมความดัน ทิศทางการไหล และปริมษรการไหลของน้ำมันไฮดรอลิกในระบบ
4. อุปกรณ์ทำงาน ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานของของไหลให้เป็นพลังงานกล เช่น กระบอกสูบหรือมอเตอร์ไฮดรอลิก
5. ท่อทางไฮดรอลิก ทำหน้าที่เป็นทางไหลของน้ำมันไฮดรอลิกในระบบ
6. น้ำมันไฮดรอลิก
น้ำมันไฮดรอลิกถือว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของระบบ ถ้าเลือกใช้น้ำมันไฮดรอลิกผิดประเภทหรือไม่เหมาะสมกับอุปกรณ์ในระบบตามที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดก็อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้และถึงแม้ว่าเราจะเลือใช้ชนิดของน้ำมันไฮดรอลิกได้อย่างถูกต้องแล้วก็ตาม ในขณะใช้งานก็ยังต้องดูแลบำรุงรักาน้ำมันไฮดรอลิกให้อยู่ในสภาพดี คือสะอาด มีอุณหภูมิพอเหมาะ และเปลี่ยนใหม่เมื่อถึงอายุการใช้งาน รวมทั้งควรตรวจสอบให้มีน้ำมันไฮดรอลิกอยู่ในระดับที่พอเพียงสำหรับการใช้งานในระบบอย่างสม่ำเสมอ ระบบจงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้ำมันไฮดรอลิกเป็นหัวใจของระบบไฮดรอลิก ทำหน้าที่หลักๆ 4 ประการคือ
1. การส่งผ่านกำลัง น้ำมันไฮดรอลิกจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดกำลังงานจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งในระบบ เพื่อเปลี่ยนแปลงกำลังงานของของไหลให้เป็นกำลังงานกลโดยไม่เกิดความต้านทานการไหลในระบที่มากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการสูญเสียกำลังงานมาก และน้ำมันไฮดรอลิกจะต้องไม่ยุบตัวตามความดันมากเกินไปในขณะทำงาน
2. การหล่อลื่น น้ำมันไฮดรอลิกจะต้องทำหน้าที่เป็นตัวช่วยหล่อลื่นและลดแรงเสียดทานระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ ที่สัมผัสกัน เช่น ฟิล์มของน้ำมันไฮดรอลิกช่วยหล่อลื่นและลดการเสียดสีของผิวสัมผัสระหว่างแกนวาล์วกับผนังภายในตัววาล์ว แผ่นฟิล์มน้ำมันดังกล่าวจะต้องมีความข้นใสพอเหมาะที่จะแทรกซึมเข้าไปในรเล็กๆ และบริเวณรอยต่อของชิ้นส่วนภายในอุปกรณ์ได้ และสามารถรบน้ำหนักของชิ้นส่วนที่กดทับกันหรือรับแรงกดได้มากนั่นเอง นอกจากนี้ยังต้องมีคุณสมบัติในการลื่นไหลที่ดีด้วย เพื่อช่วยให้การเคลื่อนที่ของชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบเคลื่อนที่ไปได้อย่างคล่องตัว
3. การซีล น้ำมันไฮดรอลิกจะทำหน้าที่เป็นซีลป้องกันการรั่วซึมภายในให้เกิดน้อยที่สุดเมื่อมีความดันเกิดขึ้นในระบบ เนื่องจากอุปกรณ์ในระบบไฮดรอลิกส่วนมากจะออกแบบให้มีการซีลแบบโลหะต่อโลหะ (Metal to Metal หรือ Metal Seal) และการทำหน้าเป็นตัวซีลนี้จะขึ้นอยู่กับความข้นใสของน้ำมันไฮดรอลิกแต่ละชนิดด้วย
4. การระบายความร้อน น้ำมันไฮดรอลิกจะช่วยระบายความร้อนของระบบโดยการไหลเวียนในขณะทำงาน ซึ่งจะรับการถ่ายเทความร้อนที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ต่างๆ อันเนื่องมาจากการสูญเสียกำลังงานในระบบเข้าสู่ตัวมัน และแผ่กระจายความร้อนนั้นผ่านผนังของถังพักเมื่อไหลลงสู่ถังพัก
คุณสมบัติที่จำเป็นในน้ำมันไฮดรอลิกมีดังนี้
1. มีความข้นใสพอเหมาะและค่าดัชนีความข้นใสสูง น้ำมันไฮดรอลิกที่มีคุณภาพดีจะต้องมีคาความข้นใสคงที่แม้ว่าอุณหภูมิในการทำงานจะเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ค่าความข้นใสของน้ำมันไฮดรอลิกยังมีผลต่อการหล่อลื่นระหว่างผิวสัมผัสของอุปกรณ์ต่างๆ กล่าวคือถ้าความข้นใสมากจะป้องกันการสึกหรอได้ดี อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีความข้นใสมากเกินไปก็ไม่เป็นผลดีต่อการหล่อลื่น เนื่องจากทำให้การเคลื่อนตัวของน้ำมันไหลไปมาไม่สะดวก
2. มีจุดข้นแข็งต่ำ น้ำมันไฮดรอลิกที่ดีควรมีจุดข้นแข็งต่ำกว่าอุณหภูมิที่ระบบไฮดรอลิกทำงานและจุดข้นแข็งนี้จะมีปัญหาก็ต่อเมื่อระบบไฮดรอลิกต้องทำงานในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ
3. คุณภาพของน้ำมันจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงมากนักถึงแม้อุณหภูมิในการทำงานจะสูง
4. มีคุณภาพการหล่อลื่นที่ดี
5. ต้านทานการเกิดปฎิกิริยาออกซิเดชั่นได้ดีเยี่ยม
6. มีความคงที่และช่วยให้ไม่สิ้นเปลืองในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันบ่อยๆ
7. มีคุณภาพคงที่ถึงแม้อุณหภูมิในการทำงานจะเปลี่ยนแปลงมาก
8. สามารถต้านทานการเกิดสนิม
9. ช่วยป้องกันการกัดกร่อนโลหะ เนื่องจากชิ้นส่วนของอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบไฮดรอลิกส่วนใหญ่ทำด้วยโลหะ ดังนั้นน้ำมันไฮดรอลิกจะต้องไม่มีคุณสมบัติของความเป็นกรดซึ่งจะมีอันตรายต่ออุปกรณ์ได้
10. สามารถเข้ากับยาง ซีล ปะเก็น และสีได้เป็นอย่างดี
11. ต้านทานต่อการเกิดฟอง
12. มีความสามารถแยกตัวจากน้ำได้ดี
13. ทนไฟ
14. มีค่าความสามารถในการอัดตัวต่ำ คือน้ำมันไฮดรอลิกต้องไม่ยุบตัวตามความดันเมื่อถูกอัดตัว
15.ไม่จับตัวเป็นก้อนหรือยางเหนียว
16. มีความเสถียร คือไม่เกิดปฎิกิริยาออกซิเดชั่นและไม่เสื่อสลายเพราะความร้อนได้ง่าย
17. สามารถผ่านไส้กรองขนาดละเอียดมากได้ดีโดยไม่เกิดการอุดตัน
น้ำมันไฮดรอลิกมีให้เลือกใช้มากมายหลายชนิด การเลือกใช้ให้ถูกต้องจะต้องพิจารณาถึงวิธีการทำงานของระบบเป็นหลัก รวมทั้งสภาพการทำงานของเครื่องด้วย โดยทั่วไปน้ำมันไฮดรอลิกถูกจัดแบ่งตามลักษณะการผลิตตามวัตถุประสงค์การใช้งานได้ 2 ประเภทคือ ประเภทน้ำมันปิโตรเลียมหรือน้ำมันแร่และประเภทน้ำมันมนไฟ น้ำมันไฮดรอลิกที่กลั่นจากน้ำมันแร่จะมีความข้นใสใกล้เคียงกับน้ำมันเทอร์ไบน์และประกอบด้วยส่วนผสมที่มีคุณสมบัติที่จำเป็นและต้องการในน้ำมันไฮดรอลิก ดังนั้นน้ำมันแร่และน้ำมันเทอร์ไบน์จึงเหมาะสำหรับระบบไฮดรอลิกทั่วไป แต่สำหรับระบบที่อยู่ในสภาพที่มีการรั่วและทำงานในอุณหภูมิสูงหรือน้ำมันระเหยได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเผาไหม้ได้ ก็ควรจะใช้น้ำมันไฮดรอลิกประเภทน้ำมันทนไฟ ซึ่งมีคุณสมบัติทางเคมีและฟิสิกส์แตกต่างจากน้ำมันปิโตรเลียม ส่วนความสามารถในการทนไฟนั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำมันทนไฟที่ใช้กับระบบ
ชนิดต่างๆ ของน้ำมันไฮดรอลิกดังต่อไปนี้
1. น้ำมันปิโตรเลียม (Petroleum Base Fluids) เป็นน้ำมันที่นิยมใช้กับระบบไฮดรอลิก คุณสมบัตของน้ำมันปิโตรเลียมขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ คือ
- ชนิดของน้ำมันดิบ
- วิธีการและระดับการกลั่น
- สารประกอบที่ใช้
โดยทั่วไปน้ำมันไฮดรอลิกชนิดนี้มีคุณสมบัติในการหลื่อดีเยี่ยม โดยเฉพาะน้ำมันดิบบางชนิดมีคุณสมบัติในการต้านทานการสึกหรอ ต้านทานการเกิดสนิม ในอุณหภูมิสูงๆทีค่าดัชนีความข้นใสสูงและมีความสามารถในการซีลดีมากอย่างไรก็ตามข้อเสียที่สำคัญของน้ำมันปิโตรเลียมก็คือเป็นน้ำมันที่ติดไฟ ดังนั้นจึงไม่เหมาะชะใช้กับงานที่อยูใกล้เปลวไฟ เช่น เครื่องหล่อแบบพิมพ์ เตาเผาเหล็ก เพราะถ้าเกิดท่อทางของน้ำมันไฮดรอลิกชนิดดังกล่าวเกิดการแตกหรือรั่ว น้ำมันอาจลุกติดไฟได้
2. น้ำมันทนไฟ (Fire Resistance Fluid) น้ำมันไฮดรอลิกชนิดนี้จะใช้ในกรณีที่ระบบต้องทำงานในที่ที่อุณหภูมิสูง หรือในที่ที่อาจจะมีการติดไฟได้ง่ายเมื่อมีการรั่วซึมของน้ำมันในระบบ น้ำมันทนไฟแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภทคือ น้ำมันที่ผลิตจากสารเคมีสังเคราะห์ และน้ำมันที่มีน้ำผสมอยู่
1. น้ำมันทนไฟประเภทผลิตจากสารเคมีสังเคราะห์ (Synthetic Fluids) น้ำมันไฮดรอลิกที่ผลิตจากสารเคมีสังเคราะห์นี้มีอยู่ 2 ประเภทคือ ฟอสเฟตเอสเทอร์ (Phosphate Ester) และโพลีเออร์เอสเทอร์ (Polyor Ester)
คุณสมบัติของน้ำมันที่ผลิตจากสารเคมีสังเคราะห์นี้จะไม่มีส่วนผสมของน้ำอยู่เลย จึงสามารถใช้ได้ดีในขณะอุณหภูมิสูงๆ โดยไม่ทำให้สารประกอบระเหยไป และใช้ได้ดีในระบบที่มีความดันสูงๆ น้ำมันชนิดนี้มีค่าความถ่วงจำเพาะสูงที่สุด (น้ำหนักจึงมากที่สุด) ดังนั้นจึงต้องระวังรักษษท่อดูดของปั๊มให้อยู่ในสภาพดี น้ำมันชนิดนี้มีค่าดัชนีความข้นใสต่ำ คือประมาณ 80 VI ดังนั้นจึงควรใช้ในระบบที่มีอุณหภูมิการทำงานค่อนข้างคงที่เท่านั้น
นอกจากนี้ราคาของน้ำมันชนิดนี้ยังจัดว่าสูงที่สุดในบรรดาน้ำมันที่ใช้ในระบบไฮดรอลิก แต่น้ำมันชนิดนี้ไม่เหมาะกับซีลชนิดบูน่าร์-เอ็นและนีโอพรีน ดังนั้นถ้าเปลี่ยนมาใช้น้ำมันประเภทนี้จะต้องเปลี่ยนซีลที่มีอยู่เสียก่อน
ข้อแนะนำในการใช้น้ำมันประเภทสารเคมีสังเคราะห์มีดังนี้คือ
1.1 ฟอสเฟตเอสเทอร์ มีข้อสังเกตในการใช้งานดังนี้
- ใช้ปั๊มที่เหมาะกับน้ำมันชนิดนี้
- ความเร็วระบบที่ขับปั๊มไม่ควรเกิน 1200 รอบต่อนาที
- ใช้สเตรนเนอร์ในท่อดูดที่มีอัตราการไหลตั้งแต่ 3 เท่าขึ้นไปของอัตรจ่ายของปั๊ม
- ระดับน้ำมันในถังพักควรต่ำกว่าช่องต่อทาวเข้าปั๊มประมาณ 80 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้แรงต้านทานการไหลในท่อดูดของปั๊มเพิ่มขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ข้องอหรือข้อต่อแบบ 90 องศาในท่อทางดูดของปั๊ม เพื่อป้องกันไม่ให้แรงต้านทานการไหลในท่อดูดของปั๊มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ท่อดูดควรมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับช่องทางออกของปั๊มด้วย
- ไม่ควรใช้สีทาภายในถังพัก
- ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เคลื่อนไหวในระบบไม่ควรทำจากอะลูมิเนียม
- ต้องระวังไม่ให้น้ำปะปนลงในน้ำมัน
1.2 โพลีเออร์เอสเทอร์ มีข้อสังเกตในการใช้งานดังนี
- ไม่ควรใช้สีประเภทฟีโนลิกเรซิน (Phenolic resin) ทาภายในถังพัก
- ห้ามใช้สารที่ทำจากยางบิวทิล (butyle)
2. น้ำมันทนไฟประเภทน้ำมันที่มีน้ำผสมอยู่ (water containing fluids) น้ำมันประเภทนี้แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ ประเภทน้ำมันผสมไกลคอล (water-glycol type fluids) ประเภทมีน้ำผสมอยู่น้อยกว่าน้ำมัน (water in oil type emulsions) และประเภทมีน้ำอยู่น้อยกว่าน้ำ (oil in water type emulsions)
2.1 น้ำมันประเภทน้ำผสมไกลคอล น้ำมันประเภทนี้ประกอบด้วยน้ำ 35-40 เปอร์เซนต์เพื่อเป็นสารต้านการติดไฟ ไกลคอลและสารประกอบจากน้ำที่เป็นยางเหนียวจะทำให้เกิดความหนืด นอกจากนี้ยังมีสารประกอบอื่นที่ช่วยป้องกันการเกิดฟอง การเกิดสนิม การผุกร่อน และช่วยในการหล่อลื่น
น้ำมันประเภทนี้โดยทั่วไปจะมีคุณสมบัติที่ดีในการต่อต้านการผุกร่อน แต่เนื่องจากมีน้ำหนักมากจึงทำให้เกิดการสุญญากาศมากในท่อดูดของปั๊ม จึงไม่เหมาะที่จะใช้กับระบบที่มีอุปกรณ์ทำด้วยสังกะสี แคดเมียม และแมกนีเซียม ส่วนซีลที่ไม่เหมาะสมกับน้ำมันประเภทนี้คือซีลที่ทำจากหนังและไม้ก๊อก ซึ่งจะดูดซึมน้ำที่อยู่ในน้ำมันได้ ดังนั้นจึงควรใช้ซีลที่ทำจากสารประกอบทางเคมีแทน
ข้อเสียของน้ำมันประเภทนี้ ได้แก่
- ในระหว่างการใช้งาน จะต้องคอยตรวจสอบปริมาณของน้ำในน้ำมันให้อยู่ในระดับพอเหมาะเพื่อรักษาค่าความข้นใสของน้ำมันให้คงที่อยู่เสมอ
- การระเหยของน้ำในน้มันอาจทำให้สารประกอบบางอย่างระเหยไปด้วย ซึ่งจะทำให้น้ำมันและอุปกรณ์บางอย่างมีอายุการใช้งานสั้นลง
- อุณหภูมิในการทำงานจะต้องอยู่ในระดับต่ำ
- มีราคาสูง
สำหรับระบบที่ใช้น้ำมันปิโตรเลียมมาก่อนแล้วจะเปลี่ยนมาใช้น้ำมันประเภทนี้ จะต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ทั้งหมดให้ดี รวมทั้งเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ทำจากสังกะสีหรือแคดเมียมด้วย
ข้อแนะนำในการใช้น้ำมันประเภทน้ำผสมไกลคอลมีดังนี้
- ใช้ปั๊มชนิดพิเศษที่เหมาะกับน้ำมันที่มีน้ำผสมอยู่
- ความเร็วรอบที่ใช้ขับปั๊มไม่ควรเกิน 1,200 รอบต่อนาที
- อุณหภูมิของน้ำมันในขณะทำงานต้องไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส
- ใช้สเตรนเนอร์ในท่อดูดที่มีอัตราการไหลมากกว่า 4 เท่าของอัตราจ่ายของปั๊ม
- ความต้านทานการไหลในท่อดูดของปั๊ม จะต้องต่ำกว่า 120 มิลลิเมตรปรอท
- ห้ามทาสีชนิดใดๆภายในถังพัก
- ห้ามใช้อุปกรณ์ที่ทำจากอะลูมิเนียม แคดเมียม และสังกะสี
- ห้ามใช้สารที่ทำจากยางโพลียูรีเทน (polyurethane)
2.2 น้ำมันประเภทที่มีน้ำผสมอยู่น้อยกว่าน้ำมัน น้ำมันประเภทนี้จัดว่ามีราคาถูกที่สุดในบรรดาน้ำมันประเภททนไฟ นอกจากน้ำและน้ำมันแล้วยังประกอบด้วยสารเคมีที่ช่วยให้น้ำกับน้ำมันผสมกลมกลืนกัน น้ำมันชนิดนี้นิยมใช้กันมากกว่าชนิดที่มีน้ำมันผสมอยู่น้อยกว่าน้ำ เนื่องจากมีค่าความข้นใสสูงกว่าและมีคุณสมบัติในการหล่อเย็นดีพอใช้ นอกจากนี้ยังอาจเติมสารประกอบที่ช่วยต้านทานการเกิดสนิมและการเกิดฟองได้ด้วย โดยทั่วไปน้ำมันชนิดนี้จะประกอบด้วยน้ำประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อใช้ในระบบอาจเติมน้ำได้อีกเพื่อช่วยรักษาความข้นใสให้คงที่
ข้อสังเกตในการใช้น้ำมันประเภทที่มีน้ำผสมอยู่น้อยกว่าน้ำมันมีดังนี้
- ใช้ปั๊มชนิพิเศษที่เหมาะสมกับน้ำมันที่มีน้ำผสมอยู่
- ความเร็วรอบที่ใช้ขับปั๊มไม่ควรเกิน 1,200 รอบต่อนาที
- อุณหภูมิของน้ำมันในขณะทำงานต้องไม่เกิน 50 องศาเซลเซียส
- สเตรนเนอร์ที่ใช้ในท่อดูดควรมีอัตราการไหลมากกว่า 3-4 เท่าของอัตราจ่ายของปั๊ม
- ระบายน้ำที่แยกตัวออกมาที่ก้นถังอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
- ความต้านทานการไหลในท่อดูดของปั๊มจะต้องต่ำกว่า 120 มิลลิเมตรปรอทล
- ห้ามใช้อุปกรณ์ที่ทำจากอะลูมิเนียม แคดเมียม และสังกะสี
- ห้ามใช้สารที่ทำจากยางโพลียูรีเทน
3. น้ำมันประเภทมีน้ำมันผสมอยู่น้อยกว่าน้ำ ประกอบด้วยน้ำมันน้อยกว่าน้ำจึงมคุณสมบัติคล้ายน้ำ สามารถต้านทานการลุกไหม้ได้ดี มีความข้นใสต่ำ และมีคุณสมบัติในการหล่อเย็นดีมาก แล้วยังมีส่วนประกอบของสารเคมีที่ช่วยทำให้น้ำกับน้ำมันผสมกันได้ดี น้ำมันชนิดนี้ก็จัดว่าเป็นน้ำมันทนไฟที่ทีราคาถูกที่สุดเช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจเติมสารประกอบที่ช่วยเพิ่มความหล่อลื่นและป้องกันการเกิดสนิมให้ดีขึ้น แต่ก่อนนิยมใช้น้ำมันประเภทนี้ในปั๊มขนาดใหย๋ที่มีความเร็วต่ำ ปัจจุบันสามารถใช้ได้กับปั๊มทั่วๆ ไป
ข้อแนะนำในการใช้น้ำมันประเภทมีน้ำผสมอยู่น้อยกว่าน้ำมีดังนี้
- ใช้ปั๊มน้ำ
- สำหรับวาล์วควบคุมทิศทาง ควรใช้แบบป็อปเป็ต (poppet)
- สำหรับวาล์วปลดความดันควรมีอะไหล่สำหรับเปลี่ยน
- ห้ามใช้สารที่ทำจากยางโพลียูรีเทน
คุณสมบัติอื่นๆ ของน้ำมันประเภทมีน้ำผสมอยู่น้อยกว่าน้ำมันและประเภทมีน้ำมันผสมอยู่น้อยกว่าน้ำ คือ น้ำมันทั้งสองประเภทนี้เหมาะสำหรับระบบที่มีอุณหภูมิต่ำเพื่อป้องกันการระเหยและการเกิดออกไซด์ในน้ำมัน ข้อควรระวังในการใช้งานคือ ระบบการกรองจะต้องดีมาก และควรมีแม่เหล็กสำหรับดูดเศษโลหะที่ปนอยู่ในน้ำมันด้วย น้ำมันทั้งสองประเภทนี้ใช้ได้ดีกับซีลและโลหะทุกชนิดที่ใช้ในระบบไฮดรอลิกที่ใช้น้ำมันปิโตรเลียม ถ้าต้องการเปลี่ยนน้ำมันในระบบมาใช้น้ำมัน 2 ประเภทนี้ จะต้องระบายและล้างอุปกรณ์ทั้งหมดให้สะอาด รวมทั้งเปลี่ยนซีลที่เป็นแบบเคลื่อนที่เสียก่อน
การใช้งานของน้ำมันไฮดรอลิก น้ำมันไฮดรอลิกและปั๊มไฮดรอลิกเป็นหัวใจในการทำงานของระบบไฉดรอลิก การที่ระบบจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตัวปั๊มต้องอยู่ในสภาพดี และต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆที่สำคัญของน้ำมันไฮดรอลิกที่จะมีผลต่ออายุการใช้งานของปั๊มไฮดรอลิกด้วยดังต่อไปนี้
- สภาพของน้ำมันไฮดรอลิกในขณะใช้งานมีความสำคัญต่ออายุการใช้งานของปั๊ม หากมีการปะปนของน้ำ ฝุ่น และเศษของแข็งจะทำให้ปั๊มสึกก่อนเร็วมาก
- ชนิดของน้ำมันไฮดรอลิก การเลือกใช้น้ำมันไฮดรอลิกให้เหมาะสมกับชนิดและการออกแบบของปั๊มไฮดรอลิกเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัณมาก เช่น น้ำมันไฮดรอลิกที่ผสมสารป้องกันการสึกหรอประเภทสังกะสีจะไม่เหมาะกับปั๊มที่มีชิ้นส่วนทำด้วยเงินและทองบรอนซ์บางประเภท เพราะจะทำให้เกิดการกัดกร่อน เป็นต้น
- อุณหภูมิของน้ำมันในระบบ ระบบไฮดรอลิกส่วนใหญ่มีการระบายความร้อนด้วยน้ำ ดังนั้นจึงต้องดูแลให้ระบบระบายความร้อนทำงานได้ดีเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิของน้ำมันไฮดรอลิกในระบบไม่ให้สูงเกินไป เพราะหากอุณหภูมิสูงมากน้ำมันจะเสือมสภาพเร็ว ซึ่งจะมีผลเสียต่อการหล่อลื่นและป้องกันการสึกหรอของปั๊มด้วย
- การหล่อลื่นปั๊ม จะทำได้ดีต้องได้น้ำมันที่ถูกชนิด สะอาดปราศจากสิ่งเจือปน และมีความข้นใสในระดับที่เหมาะสม และระดับน้ำมันในอ่างต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้
- ความข้นใสของน้ำมันไฉดรอลิกต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการออกแบบของระบบไฮดรอลิกโดยเฉพาะปั๊มไฮดรอลิก หากน้ำมันข้นเกินไปเวลาเริ่มเดินปั๊มจะเกิดเสียงดังอันเนื่องมาจากการเกิดโพรงที่ว่างในเรือนปั๊มทำให้ปั๊มเกิดการสึกหรอและเสียหายได้ และในระหว่างการใช้งาน ฟองอากาศที่ปะปนในน้ำมันแยกตัวแกได้ช้าเนื่องจากน้ำมันข้น ก็จะเกิดเสียงและทำให้ปั๊มเสียหายเร็ว วาล์วเกิดการสึกกรอนเร็วด้วย และหากน้ำมันใสเกินไปประสิทธิภาพของปั๊มและระบบไฮดรอลิกจะต่ำลงเพราะเกิดการรั่วกลับในเรือนปั๊ม โดยทั่วไปสำหรับระบบที่ใช้น้ำมันแร่เป็นน้ำมันไฮดรอลิก ความข้นใสที่ใช้จะอยู่ในระดับเบอร์ ISO 32, 46, 68 หรือ 100 ในขณะการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ อุณหภูมิการใช้งานควรจะอยู่ในราว 49-54 องศาเซลเซียส และไม่ควรเกิน 66 องศาเซลเซียส ความข้นใสจะอยู่ระหว่าง 13-54 เซนติสโตก ณ อุณหภูมิการใช้งาน
- น้ำมันไฮดรอลิกคุณภาพดีมักเติมด้วยสารป้องกันการสึกหรอ จะเป็นสารซิงค์ไดไธโอฟอสเฟต (zinc dialkyl dithiophosphaste) (ZDDP) ซึ่งเป็นประเภทมีเถ้า หรือสารพวกไตรครีซิลฟอสเฟต (TCP) ซึ่งเป็นสารประเภทไม่มีเถ้าก็ได้
- มีค่าดัชนีความข้นใสสูง และค่าความข้นใสไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมือ่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไปมาก |